โรคและอาการผิดปกติของทุเรียน

อาการผิดปกติบางประการของทุเรียน

1.ทุเรียนไส้ซึม : เกิดจากการที่ทุเรียนได้รับน้ำมากเกินไปในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผล ทำให้ไส้หรือแกนของผลทุเรียนแฉะและคุณภาพของเนื้อไม่ดี  ตลาดไม่ต้องการมักเป็นในช่วงที่มีฝนตกหนัก พันธุ์ทุเรียนที่พบว่าเป็นไส้ซึมง่าย ได้แก่ ชะนีและก้านยาว ส่วนพันธุ์กบหากฝนไม่ตกชุกเกินไปก็ไม่ค่อย มีปัญหา สำหรับพันธุ์กระดุมไม่ค่อยมีปัญหาเช่นกัน เพราะเป็นพันธุ์เบาสามารถเก็บผลได้ก่อนฝนชุก

2.เต่าเผาและเนื้อแกน : เต่าเผาเป็นอาการผิดปกติโดยส่วนปลายของเนื้อทุเรียนที่หุ้มเมล็ด อยู่เป็นสีน้ำตาลไหม้

เนื้อแกนเป็นอาการที่เนื้อทุเรียนแข็ง มีสีซีดผิดปกติ และมี รสขม อาจเป็นบางส่วนหรือเป็นทั้งผล ปกติถ้าทุเรียนแกนมักเป็นทั้งต้น สาเหตุเนื่องจากมีการแตกใบอ่อนขณะที่ทุเรียนกำลังสร้างเนื้อ ต้นทุเรียนไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรอาหารส่งไปเลี้ยงผลไม่เพียงพอ การให้น้ำไม่สม่ำเสมอมีการขาดน้ำหลายระยะในช่วงติดผล ทั้งนี้หากเกษตรกร มีการปฏิบัติดูและให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์ ก็จะไม่พบอาการเนื้อแกนเต่าเผา

โรคแมลงศัตรูทุเรียนและการป้องกันกำจัด

1. หนอนกินต้นทุเรียน

ลักษณะการทำลาย

    ศัตรูสำคัญที่ทำลายลำต้นทุเรียนให้เกิดความเสียหาย คือ หนอนเจาะลำต้นทุเรียน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากด้วงหนวดยาว เจาะต้นและกิ่งทุเรียนเพื่อวางไข่ หลังจากนั้นก็จะฟักตัวออกเป็นไข่ เป็นตัวหนอนวัยต่างๆประมาณ 5 ระยะ โดยหนอนจะทำลายเจาะกินต้นทุเรียนบริเวณใต้ผิวเปลือกต้นทุเรียนเป็นทางยาว หรือ เจาะเข้าไปถึงไส้ในของเนื้อต้นทุเรียนได้ สังเกตได้ว่าบริเวณที่มีหนอนจะมีขุยคล้ายๆโดนสว่านเจาะที่ต้นไม้ และมีน้ำไหลเป็นเมือกเหนียว และในเมือกเหนียวนั้นจะมีตัวหนอนเล็กๆคล้ายพยาธิมากมาย กัดกินบริเวณเนื้อเยื่อของต้นทุเรียน ทำลายท่อน้ำและท่ออาหารทำให้ทุเรียนแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ถ้าหนอนตัวใหญ่มากขึ้นจะสามารถกัดลำต้นให้ทะลุถึงกันได้ ทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรมและยืนต้นตายในที่สุด

วิธีป้องกันและกำจัด

ในฤดูแล้งเกษตรกรควรสังเกตบริเวณโคนต้นและตามกิ่ง ว่ามีรอยกัดของด้วงหนวดยาวบริเวณเปลือกและลำต้น เพื่อฝากไข่ ให้สังเกตบริเวณเปลือกลำต้นมีเม็ดสีขาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร แสดงว่าพบไข่ของด้วงหนวดยาวที่มาฝากไว้ บริเวณเปลือก วิธีป้องกัน ขั้นแรกให้ใช้ปลายมีดอีเสียมแคะไข่ที่ด้วงหนวดยาวไข่ฝากไว้ ถ้าปล่อยไว้ให้ผ่านถึงในฤดูฝน ไข่จะเริ่มฟักกลายเป็นตัวหนอนมี 5 ระยะ จากตัวเล็ก ก็จะเริ่มกัดกินบริเวณใต้เปลือกเป็นทางยาวให้สังเกตมีน้ำไหลบริเวณลำต้นและเป็นขุยร่วงหล่นลงมาที่พื้นคล้ายรอยถูกสว่านเจาะ แสดงว่าไข่ฟักเป็นตัวเรียบร้อยแล้ว   วิธีแก้ไขคือ ถ้าพบรอยเจาะเป็นขุยที่พื้นและลำต้นมีน้ำไหลให้ใช้มีดอีเสียมสับบริเวณเปลือกเพื่อหาตัวหนอนก่อนที่ตัวหนอนจะตัวใหญ่มากขึ้น จากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณนั้นเพื่อให้แสงแดดส่องถึงแผลที่มีน้ำไหล ให้ใช้มีดอีเสียมสับที่บริเวณเปลือกรอบๆต้นที่มีรอยกัดกินของหนอน สับเป็นแผลบางๆ(ไม่ลึกมาก) แล้วใช้ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอสที่เป็นยาดูดซึมผสมน้ำใส่กระป๋องฉีด(foggy) พ่นโดยรอบบริเวณที่มีน้ำไหลและรอยที่สับไว้ จากนั้นปล่อยให้แสงแดดเป็นตัวทำลายหนอนตัวเล็กๆที่มีอยู่ในเมือกเหนียว อีกไม่นานแผลนั้นแห้งเป็นปกติ

2.ไรแดง

ไรแดงทุเรียน ระบาดมากในช่วงที่อากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานๆซึ่งตรงกับช่วงที่ทุเรียนกำลังออกดอกและติดผล ทำให้ดอกร่วงและผลเสียหาย

ลักษณะการทำลาย

-ดูดน้ำเลี้ยงบริเวณผิวใบ ของทุเรียน โดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบ เห็นคราบไรเป็นสีขาวเกาะ ติดบนใบเป็นผงสีขาวคล้ายนุ่นจับ และจะทำให้ใบร่วง

หลังจากนั้น ทุเรียนจะแตกอ่อน ซึ่งจะตรงกับช่วงดอกบานหรือเริ่มติดผล ทำให้ ดอกและผลร่วงเสียหาย

-ระบาดมากในช่วงที่อากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานๆ

การป้องกันกำจัด 

-อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมไรแดง ได้แก่ ไรตัวห้ำ ด้วงเต่า แมลงวันขายาว แมงมุม

-ถ้าสำรวจพบไรแดงกระจายทั่วทั้งสวนให้ฉีดน้ำเข้าไปในทรงพุ่มเพื่อเพิ่มความชื้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไรแดงลงได้

 

3. เพลี้ยไก่แจ้

เพลี้ยไก่แจ้  ระบาดมากในช่วงที่ทุเรียนแตกใบอ่อน ทำให้ต้นทุเรียนขาดความสมบุรณ์มีผลกระทบถึงการออกดอกติดผลในฤดูต่อไป

ลักษณะการทำลาย 

-ดูดกินน้ำเลี้ยง จากใบอ่อน ของทุเรียน ทำให้ใบไม่เจริญเติบโต เมื่อระบาดมาก  ใบ จะหงิกงอแห้งและร่วง ต้นทุเรียนขาดความสมบูรณ์

-ระบาดมากในช่วงที่ทุเรียนกำลังแตกใบอ่อน

    การป้องกันกำจัด

-อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไก่แจ้ไว้ควบคุมเพลี้ยไก่แจ้  ได้แก่ ด้วงเต่าปีกลายหยัก ด้วงเต่าสีส้ม ด้วงเต่าลายสมอ แมลงช้าง ต่อต่าง ๆ แมงมุม

-กระตุ้นให้ทุเรียนแตกใบอ่อนพร้อมกัน โดยฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

จะช่วยลดช่วงเวลาการเข้า ทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ให้สั้นลง

-ใช้ดักสารเหนียวสีเหลืองล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำบนใบอ่อนที่คลี่แล้วเพื่อลดปริมาณเพลี้ยไก่แจ้

-เมื่อพบเพลี้ยไก่แจ้เข้าทำลายมาก ควรใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้

– ไซฮาโลธริน แอล 25 % อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

– คาร์โบซัลแฟน 20% อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

4.โรครากเน่าและโคนเน่า

เชื้อราไฟทอปโธรา สาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า และโรคผลเน่า ทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรมถึงตายได้และผลทุเรียนเน่าเสียหลังการเก็บเกี่ยว 

 ลักษณะการทำลาย

-เมื่อพบว่าใบทุเรียนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดและใบร่วงในเวลาต่อมาแสดงว่า ทุเรียนอาจเป็นโรครากเน่าและโคนเน่า ให้สำรวจบริเวณโคนต้น

-บริเวณโคนต้น กิ่งหรือรากที่เป็นโรคจะมีสีของเปลือกเข้มคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เป็นวงหรือมีรอยแตกของแผลและมีน้ำยางไหลออกมาในต้นที่เป็นรุนแรง

ส่วนรากที่ถูกเชื้อราทำลายจะเน่ามีสีดำและขาดง่าย

-ระบาดมากในช่วงที่มีฝนตกชุกและอากาศชื้น

การป้องกันกำจัด

-ใช้เชื้อราพาราสิตไตรโคเดอร์มาควบคุมปริมาณเชื้อราไฟทอปโธราในดิน

โดยนำเชื้อราพาราสิตนี้ผสมกับรำ และปุ๋ยหมักอัตรา 1:25:25 ส่วน แล้วนำส่วนผสมนี้ไปรองก้นหลุมก่อนปลูกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อหลุม

หรือนำไปโรยรอบ ๆ โคนต้นทุเรียนที่โตแล้ว อัตรา 5 กิโลกรัมต่อต้น แล้วรดน้ำพอชุ่ม เพื่อช่วยควบคุม เชื้อราไฟทอปโธราในดิน

 

5.โรคผลเน่า

ลักษณะการทำลาย

-เชื้อราจะเข้าทำลายผลทุเรียนได้ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยจะเห็นอาการเป็นจุดสีน้ำตาลปนเทาบนเปลือก

แล้วขยายตัวลุกลามไปเป็นวงใหญ่ ทำให้เปลือกแตกตาม รอยแตกของพูทุเรียน ถ้าเป็นมากจะร่วงหล่นก่อนกำหนด

การป้องกันกำจัด 

-ฉีดพ่นสารเคมี  โฟซีธิล-อลูมิเนียม 80% อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นที่ผลทุกต้นเมื่อพบผลเน่าในสวน

-รวบรวมผลเน่าที่ร่วงหล่นเผาทำลาย

-เก็บเกี่ยวผลทุเรียนอย่างระมัดระวัง และไม่ควรวางผลลงบนพื้นดินในสวนโดยตรง

ข้อมูลจาก:https://www.duriannon.com

 

                                               อ้างอิง 

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2555). “คู่มือเกษตรกรเรื่องการปลูกทุเรียน.”

ภายใต้โครงการกู้วิกฤตสวนผลไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี

ภาพประกอบจาก : จงดี โตอิ้ม. โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมทุเรียนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสวนทุเรียนในประเทศไทย ตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: กรณีศึกษา จังหวัดนนทบุรี โครงการย่อยที่ 3 โครงการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในจังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ; 2555.

ภาพประกอบจาก http://www.agriqua.doae.go.th/plantclinic/Clinic/plant/durian และสวนตาก้าน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Call Now Button